19 ตุลาคม 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวถึงภาพรวมของสถานการการณ์ระบาดของโควิด 19 ระบุว่า
ตอนนี้ ต้องจับตามองการระบาดในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นการระบาดในครัวเรือน หรือในชุมชน ก็ต้องเข้าไปล้อมกรอบ จำกัดการแพร่กระจายออกนอกพื้นที่ ดูแลรักษากันในนั้น ภายใต้ระบบ Community Isolation ไปจนถึงการแยกไปรักษาที่โรงพยาบาลสนาม
ยังขอให้ผู้นำชุมชนสร้างความเข้าใจถึงเรื่องความจำเป็นของการรับวัคซีน ทางกระทรวงฯ ตั้งเป้าว่าภายในเดือนพฤศจิกายน สถานการณ์น่าจะคลี่คลาย เพราะสามารถฉีดวัคซีนได้ตามเป้า จะเห็นว่า ยอดผู้ป่วยยังทรงตัว ไม่เพิ่มไปจากเดิม ก็เพราะได้วัคซีนเข้ามาช่วย ตอนนี้ ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ ได้รับวัคซีนไปแล้วกว่า 50% และในเดือน ตุลาคม ก็น่าจะได้ถึงตัวเลข 70% น่าจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ระดับป้องกันการป่วยหนัก และเสียชีวิตได้
จากนั้นในเดือนพฤศจิกายน จะระดมฉีดเข็ม 2 ทันที ซึ่งยอดผู้ติดเชื้อ ยังจะมีรายงานเข้ามา แต่ยอดการป่วยหนัก และเสียชีวิตจะน้อยลงแน่นอน เพราะคุณสมบัติของวัคซีนคือป้องกันป่วย และป้องกันการสูญเสีย
ส่วนการตั้ง ศบค.ชายแดนใต้ ตนมองว่าเป็นการช่วยกันทำงาน เพราะการคุมโควิด ก็ต้องบูรณาการงานระหว่างหลายภาคส่วน งานด้านความมั่นคง ก็ต้องให้ฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคง ดูแลไป แต่เรื่องการรักษาโรค ต้องยกให้แพทย์ จะให้แพทย์ไปทำงานแบบโปลิศจับขโมย ก็ไม่ได้
ในภาพรวมทั่วประเทศ ให้บริการวัคซีนได้มากกว่า 65 ล้านโดสแล้ว ถือว่าเร็วกว่าที่คาดกันเอาไว้ ส่วนหนึ่งเพราะเราฉีดกับเด็กด้วย จากที่ไม่มีแผนนี้ตั้งแต่แรก นอกจากนั้น วัคซีน ก็เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ คาดว่า เราจะฉีดได้มากกว่า เป้าที่วางไว้ว่าจะฉีดให้ได้ 70% ของประชากร ซึ่งผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เห็นว่า เรามองเป้าที่ 80% ได้เลย
เมื่อก่อนฉีดได้วันละ 6 แสนโดสก็เยี่ยมแล้ว ปัจจุบัน บางวันสามารถฉีดได้แตะ 1 ล้านโดส วัคซีนเข้ามาต่อเนื่อง เราเร่งตรวจสอบ ส่งเข้าระบบบริการอย่างต่อเนื่อง การให้บริการรวดเร็ว แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามการพิจารณาของแพทย์ ต้องมีทั้งปริมาณ และคุณภาพด้วย
ขอย้ำว่า ประเทศไทยมีวัคซีนแล้ว มาจากหลากหลายเทคโนโลยี ในปีหน้า คาดว่าจะมีวัคซีนของไทยเข้าสู่ระบบริการด้วย เพราะหลายทีมผู้ผิต มีความคืบหน้าไปมาก อาทิ ทีมขององค์การเภสัชฯ และทีมของจุฬาฯ โดยเราไม่ได้วางแผนฉีดแค่ 2 เข็ม แต่เรามองไปถึงเข็มบูสเตอร์แล้ว ประสบการณ์ ทำให้เรามีความรู้เรื่องวัคซีน และการจัดหามากขึ้น และขอยืนยัน ไทยจะจัดหาวัคซีนที่ดี และสอดคล้องกับสถานการณ์มากที่สุด
ซึ่งคณะนักวิชาการของไทยเก่งมาก ท่านสามารถปรับการใช้วัคซีนให้สอดคล้องกับการระบาด เป็นที่มาของสูตรวัคซีนซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนกา ในอนาคต จะมีการปรับอีก ไปจนถึงการฉีดเข็ม 3 ไม่ว่าประชาชนจะฉีด 2 เข็ม เป็นสูตรไหนมา ประเทศไทย มีคณะศึกษาทำงาน คอยวัดภูมิคุ้มกัน ถ้าพบว่าภูมิตก จะนัดมาฉีดเข็ม 3 แน่นอน
ส่วนเรื่องของยาและเวชภัณฑ์ ประเทศไทย มีแผนจะนำเข้ายาโมลนูพิราเวียร์ แต่ขอให้พิจารณาเรื่องประสิทธิภาพ และความปลอดภัยก่อน ระหว่างนี้ ไทยยังใช้ฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งไทยสามารถนำเข้า และผลิตได้เอง แล้ว ที่ผ่านมา มีการปรับการให้ยาให้เร็วขึ้น เพื่อลดความสูญเสียที่เกิดกับผู้ป่วย
เรื่องการเปิดประเทศ คนที่เข้ามาไทยต้องฉีดวีคซีน ต้องมีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน และต้องผ่านการ RT-PCR ว่าไม่ติดโรค โดย กำลังพิจารณาว่า ถึงจะผ่านการตรวจด้วย RT-PCR แล้ว แต่เมื่อ มาถึงไทย ควรจะตรวจยืนยันอย่างไรต่อ เพื่อให้เกิดความมั่นใจสูงที่สุด อย่างไรก็ตาม คืนแรก ก็ต้องเฝ้าระวัง แต่ที่แน่ๆ คือ มาตรการ ถ้าออกมาแล้ว ก็ต้องปฏิบัติตาม เช่นเดียวกับการเปิดผับบาร์ ยอมรับว่าเป็นห่วง ต้องมีมาตรการออกมาคอยดูแลประชาชนแน่นอน และขอให้เมื่อถึงวันนั้น ประชาชนโปรดให้ความร่วมมือด้วย