รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการใช้เครื่องฉายรังสี LINAC สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ให้บริการได้ 40 – 50 รายต่อวัน เป็นแห่งแรกใน 7 โรงพยาบาลที่ได้รับอนุมัติงบประมาณจากรัฐบาลตามโครงการลดผลกระทบโควิด 19 วงเงิน 878.20 ล้านบาท มีแขนกลฉายรังสีได้หลายทิศทาง เคลื่อนที่ได้เกือบรอบตัวผู้ป่วย ความแม่นยำสูง ลดระยะเวลารักษา ลดความเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อ
วันนี้ (13 กันยายน 2564) ที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กทม. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีเปิดการใช้เครื่องฉายรังสีสำหรับแก้ปัญหาผลกระทบจากโควิด 19 โดยมีนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และนายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เข้าร่วม
นายอนุทินกล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้จัดซื้อเครื่องฉายรังสี LINAC วงเงิน 878.20 ล้านบาท ตามที่กระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอโครงการจัดหาครุภัณฑ์เครื่องฉายรังสีสำหรับแก้ปัญหาผลกระทบจากโควิด 19 ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ให้แก่โรงพยาบาล 7 แห่ง ได้แก่ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ โรงพยาบาลพุทธชินราชพิษณุโลก โรงพยาบาลสมุทรสาคร โรงพยาบาลร้อยเอ็ด โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช โรงพยาบาลสุรินทร์ และโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงการฉายรังสีได้สะดวกมากขึ้นและสนับสนุนโครงการมะเร็งรักษาได้ทุกที่ (Cancer Any Where) โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างและติดตั้งแล้วเสร็จสามารถเปิดให้บริการรักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วยเครื่องฉายรังสี LINAC เป็นหน่วยงานแรกใน 7 โรงพยาบาล ให้บริการได้ 40–50 รายต่อวัน
“การรักษาด้วยเครื่องฉายรังสีที่มีประสิทธิภาพสูง เป็นสิ่งสำคัญที่จะสามารถเพิ่มศักยภาพการรักษาโรคมะเร็ง ลดระยะเวลาการฉายรังสีในผู้ป่วยแต่ละราย นอกจากนี้ สถาบันมะเร็งแห่งชาติยังมีระบบวางแผนรังสีรักษาทางไกลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีรักษา ทำให้ไม่มีข้อจำกัดของระยะทาง ถือเป็น New Normal การแพทย์วิถีใหม่ ทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งได้รับการฉายรังสีได้อย่างรวดเร็ว การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น” นายอนุทินกล่าว
ด้านนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เครื่องเร่งอนุภาคพลังงานสูงชนิดแปรความเชิงปริมาตร (Linear Accelerator Volumetric Modulated Arc Therapy) หรือ LINAC เป็นเครื่องฉายรังสี ที่มีแขนกลฉายรังสีได้หลายทิศทาง เคลื่อนที่ได้เกือบรอบตัวผู้ป่วย มีการเพิ่มระบบอุปกรณ์ในการกำบังรังสีและกำหนดรูปร่างเพื่อปรับความเข้มของลำรังสี ทำให้สร้างรูปร่างของลำรังสีในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างอิสระ และมีการเพิ่มระบบติดตามเป้าหมายที่มีการเคลื่อนที่ตามการหายใจ เช่น ก้อนในปอด ก้อนในตับได้อย่างแม่นยำ ให้ความเข้มของรังสีได้สูง รวดเร็ว มีการกระจายของรังสีไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียงน้อย ถือเป็นการรักษาที่มีความซับซ้อนและมีความละเอียดสูง