เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2564 จากกรณีที่มีการวิพากษ์ วิจารณ์ เรื่องไทยพิจารณากลับเข้ารับวัคซีนโควิด 19 ผ่านโครงการโคแวกซ์ ล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า
การพิจารณาของไทย ไม่ได้หมายความว่า การที่ไทย ไม่ได้เข้าร่วมในปีนี้ ถือว่า ผิดแผน ผิดพลาด ล้มเหลว แต่ไทย ตัดสินใจบนสถานการณ์จริง ที่ปี 2564 ทั่วโลกต้องการวัคซีนมากมายมหาศาล ทางโคแวกซ์ ก็เช่นกัน ต้องประสบกับความยากลำบากในการจัดหา ซึ่งก็ปรากฏเป็นข่าวอยู่เนืองๆ ปัจจุบันนี้ ค่าเฉลี่ยการกระจายวัคซีนให้ชาติสมาชิกอยู่ที่ ประเทศละ 1 ล้านโดส และในความเป็นจริง บางชาติได้รับหลักล้าน แต่บางชาติได้รับหลักหมื่น โครงการโคแวกซ์ สำหรับปี 2564 ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง ดังนั้น ไทยจึงไม่ได้หวังพึ่งจากโครงการนี้เป็นหลัก แต่ได้เข้าไปจัดหากับผู้ผลิตโดยตรง
ซึ่งหากมองในมุมของประเทศไทยที่มีการซื้อวัคซีนตรงกับบริษัทผู้ผลิตที่เราตกลงกันไว้ตั้งแต่ ก.ย.63 ทำให้ตั้งแต่เดือนก.พ.64 จนถึงสิ้นเดือน ก.ค.64 ไทยเรามีวัคซีนรวมสะสมทั้งสิ้นประมาณ 27 ล้านโดส แบ่งเป็นแอสตร้าฯ ราว 12 ล้านโดส และซิโนแวคอีก 15 ล้านโดส และยังมีส่วนที่ได้รับการบริจาคราว 3.5 ล้านโดสเป็นวัคซีนแอสตร้าฯ 1 ล้านโดสที่เราได้รับจากประเทศญี่ปุ่น วัคซีนซิโนแวค 1 ล้านโดสจากประเทศจีน และวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสที่จะเข้ามาปลายเดือนนี้
“ ย้อนกลับไป ตอนที่ไทย มีแผนวัคซีน เราไม่ได้เลือกโคแวกซ์ เป็นแผนหลัก เพราะตอนนั้น เราไม่อยากวางเงินซื้อ ซึ่งเรารู้ดีว่า หลังจากนั้น เราจะกำหนดอะไรไม่ได้ ทางไทย จึงกันงบ ไว้จัดซื้อ จัดหากับผู้ผลิตโดยตรง ที่การพูดคุยหารือ ยังเป็นไปได้มากกว่า”
นายอนุทิน กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตามสถานการณ์ปัจจุบันของโครงการโคแวกซ์ มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ไทยและโคแวกซ์ได้หารือกันมาตลอด มีคณะทำงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณาในเรื่องนี้โดยเฉพาะ พบว่า ในปี 2565 การกักตุนวัคซีนจะน้อยลง โคแวกซ์ จะมีวัคซีนเข้ามามากขึ้น บริหารจัดการง่ายขึ้น ชาติสมาชิก จะมีความชัดเจน เรื่องการได้รับวัคซีน ไทยจึงเข้าร่วม เราตัดสินใจบนสถานการณ์จริง