จากกรณีที่มีคำสั่งล็อกแคมป์คนงาน ส่งผลให้เกิดข้อกังวลเรื่องแรงงานกลับต่างจังหวัด ล่าสุด 28 มิถุนายน 2564 ที่ กระทรวงสาธารณสุข ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พร้อมด้วย นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหารฯ ได้ประชุมทางไกลร่วมกับผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.) เพื่อหารือทางออกของปัญหาข้างต้น หลังการประชุมซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง
นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข พยายามช่วย กทม.แบ่งเบาปัญหาในกรุงเทพ ตอนนี้ จำเป็นต้องหาสถานที่เพื่อรองรับผู้ป่วย ได้หารือกับเจ้าของพื้นที่ตั้ง รพ.บุษราคัม เพื่อขอความอนุเคราะห์เงื่อนไขใช้พื้นที่ต่อ และจะเปิดพื้นที่เพิ่มเติมเพื่อขยายเตียงให้ได้อีกหลายพันเตียง และส่วนของกองทัพที่ใช้มณฑลทหารบกที่ 11 จัดตั้งเป็น รพ.สนามมทบ.11 ก็จะมีการตั้งเตียง Cohort-ICU ด้วย
ต่างจังหวัด ได้กำชับให้แต่ละพื้นที่เตรียมความพร้อม เพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคต จากนี้ในพื้นที่ ต้องบูรณาการทำงานให้เป็นเครือข่าย นโยบายนี้เคยปฏิบัติมาแล้วเมื่อช่วงปี 2563 ต้องขอความร่วมมือจาก สสจ. เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ อสม. ในการเฝ่าระวังภายในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม สธ.มีอำนาจตามกฎหมายที่ระบุไว้ชัดเจนว่าทำอะไรได้บ้าง ดังนั้น ในการควบคุมคน ควบคุมการเดินทาง ก็ต้องหวังพึ่งพาจากฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายการปกครองที่ต้องเข้ามาช่วยเหลือ ด้านแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการการควบคุมโรค หากเป็นแรงงานต่างด้าว ขอความร่วมมือนายจ้างให้ดูแล สำหรับคนไทที่มีการกลับภูมิลำเนาขอให้ปฏิบัติตามมาตรการที่แต่ละพื้นที่กำหนด เช่น การให้มีกักตัวในสถานกักกันโรคท้องถิ่น(Local Quarantine)
ในส่วนของการรักษาพยาบาล รวมไปถึงเรื่องการสำรองยา ได้เตรียมการไว้แล้ว ปัจจุบันนี้ ไทยกำลังผลักดันการผลิตยาสำคัญ เพื่อรักษาโควิด 19 ได้เอง ภายใต้ชื่อ “ยาฟาเวียร์” คาดว่าจะทราบผลกลางเดือน ก.ค. และสามารถเริ่มผลิตในเดือน ส.ค. คาดว่าจะผลิตได้ประมาณ 2 ล้านเม็ดต่อเดือน ขณะที่อีกส่วนหนึ่งยังเป็นการนำเข้าตามปกติ