8 มิถุนายน 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงบรรยากาศการระดมฉีดวัคซีนโควิด 19 วานนี้ ว่า
ภาพรวม เป็นไปด้วยดี มีความเรียบร้อย แม้จะมีบางจุด ที่พบปัญหาบ้าง แต่ก็ต้องหาทางแก้กันไป ที่สุดแล้ว ขอให้ทุกฝ่ายตระหนักเสนอว่าเรื่องการให้บริการนั้น เป็นวาระแห่งชาติ เป็นภารกิจที่คนไทยทุกคนต้องช่วยกัน คนทำงานทุกระดับต้องผลักดันให้สำเร็จ ทุกดุลย์พินิจที่ใช้ ต้องเป็นไปเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ ทางฝ่ายบริหาร พร้อมรับฟังข้อเท็จจริง
ดังนั้น ฝ่ายปฏิบัติงาน หากเกิดอุปสรรคในการให้บริการขอให้มาหารือ ช่วยกันคิด ช่วยกันหาทางออก ส่วนเรื่องของวัคซีน ขอย้ำว่า ประเทศไทยจะได้เข้ามาเรื่อยๆ ส่วนจำนวนที่แต่ละจังหวัด ที่แต่ละพื้นที่ได้รับ ให้เป็นการตกลงรวมกันระหว่างฝ่ายที่มีความต้องการคือจังหวัด และฝ่ายพิจารณาคือ ศบค.ส่วนกระทรวงสาธารณสุข มีหน้าที่ส่งลงไป เมื่อวัคซีนถึงแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของแต่ละจังหวัด ซึ่งทางผู้ว่าราชการ และทางนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ต้องวางแผนฉีดตามความเหมาะสม
นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า วัคซีนที่ให้บริการในช่วงเวลานี้ หลักๆ อยู่ที่แอสต้ราเซนเนก้า และซิโนแวค ขณะที่ในอนาคต ภาครัฐจะนำวัคซีนเข้ามาให้บริการเพิ่มเติม เพื่อให้บริการครอบคลุมประชาชนคนไทยมากที่สุด ทั้งนี้ การให้บริการ ให้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาข้อมูลทางการแพทย์ และหลักวิชาการเป็นหลัก เช่นเดียวกับการเว้นระยะห่างระหว่างเข็ม 1 และเข็ม 2 ก็อยู่ในการพิจารณาทางการแพทย์ และหลักวิชาการเช่นกัน เรื่องสุขภาพประชาชน การจะตัดสินใจ ต้องมีข้อมูลรองรับอย่างครบถ้วน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เช้าวันเดียว นายอนุทิน และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดกิจกรรม “สูงวัยสู้ภัยโควิด 19”ปล่อยขบวนรถเคลื่อนที่บริการฉีดวัคซีนในสถานประกอบการดูแลผู้สูงอายุใน กทม. โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุในสถานดูแลผู้สูงอายุ มีผู้สูงอายุทั้งช่วยเหลือตัวเองได้ ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่ง ไปจนถึงกลุ่มติดเตียง เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่มีโอกาสสัมผัส ติดเชื้อง่าย และมีอาการรุนแรงอาจเสียชีวิตได้
กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ (HEC) และโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) จัดหน่วยเคลื่อนที่บริการฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุ ผู้ดูแลผู้สูงอายุ และพนักงานเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในสถานดูแล รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนที่มีความเสี่ยงสูง
ระยะแรกจะนำร่องในสถานประกอบการดูแลผู้สูงอายุ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงสูง 32 แห่ง จำนวน 1,200 คน ตั้งแต่วันที่ 8 – 10 มิถุนายนนี้ ก่อนจะขยายการให้บริการเพื่อครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นในอนาคต