7 พฤษภาคม 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการองค์การอาหารและยา นายแพทย์นคร เปรมศรีผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และตัวแทนจากบริษัทไฟเซอร์ ได้ร่วมกันหารือ เพื่อนำวัคซีนป้องกันโควิด 19 มาให้บริการกับประชาชน
หลังการหารือร้วมกัน ซึ่งใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง นายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้ได้มาพูดคุยร่วมกันเพื่อพิจารณาข้อตกลงเบื้องต้นระหว่าง 2 ฝ่าย หากยอมรับเงื่อนไขระหว่างกัน วัคซีนจะมาถึงประเทศไทยระหว่างไตรมาส 3 และไตรมาส 4 จำนวนที่หารือกันไว้คือ 10-20 ล้านโดส ทั้งนี้ ได้ขอให้ไฟเซอร์ นำวัคซีนมาขึ้นทะเบียนกับไทยด้วย แต่ทางผู้ผลิตยืนยันว่า จะมีการนำมาขึ้นทะเบียนภายหลังบรรลุข้อตกลงร่วมกัน
ทั้งนี้ ทางบริษัทไฟเซอร์ยืนยันว่า การหารือ ณ ขณะนี้ จะทำกับฝ่ายรัฐเท่านั้น จากนั้น จะพิจารณาเรื่องการพูดคุยกับเอกชน แต่ต้องให้ภาครัฐช่วยอำนวยความสะดวก
ณ ปัจจุบัน ประเทศไทยให้ความสนใจในผลิตภัณฑ์ของบริษัทไฟเซอร์ เพราะ มีข้อมูลจากทางบริษัท เปิดเผยว่าสามารถให้บริการกับเยาวชนอายุ 12 ปีขึ้นไปได้ นอกจากนั้น ยังได้รับการยืนยันว่า การเก็บรักษา สามารถใช้อุณหภูมิที่สูงขึ้นได้ เพียงแต่ระยะเวลาการเก็บรักษาจะสั้นลง ทั้งนี้ หากบรรลุข้อตกลงร่วมกัน การได้วัคซีนจากไฟเซอร์ จะทำให้ไทย สามารถบริการแก่เยาวชน ครอบคลุม จำนวนผู้ได้รับวัคซีนมากขึ้น
เมื่อไฟเซอร์มาขอขึ้นทะเบียน ทาง อย.ให้ความมั่นใจว่าจะเร่งพิจารณาให้เร็วที่สุด ขอย้ำว่า ภาครัฐไม่เคยเตะถ่วงเรื่องการจัดหา และบริการวัคซีน ที่ผ่านมา ผลักดันให้เกิดการนำเข้าวัคซีนอยู่ตลอด และได้มีการเดินหน้าให้บริการประชาชนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ทางจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย และ กระทรวงฯ ได้หารือเรื่อง การใช้พื้นที่ของจุฬาฯ เป็นสถานที่ฉีดวัคซีนให้นักศึกษาและบุคลากรของสถาบัน ซึ่งทุกฝ่ายพร้อมสนับสนุน ผลักดันการให้บริการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด